2 กรกฎาคม 2558

การดูดกลืนและการคายความร้อน



การดูดกลืนและการคายความร้อน
                เมื่อประมาณ  4,600  ล้านปีที่ผ่านมา  ดวงอาทิตย์ได้ส่องแสงมายังโลกตลอดเวลา  โดยพืชใช้แสงในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง  ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่มีความจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก
                เมื่อปี  พ.ศ.  2210  เซอร์ไอแซค  นิวตัน  นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ  ได้ทดลองเกี่ยวกับเรื่องแสง  พบว่าถ้าให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านปริซึม  แสงจะเกิดการหักเหออกมาเป็นแสงสีต่าง ๆ  7  สี  เริ่มจากแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นไปหาแสงที่มีความยาวคลื่นยาวได้ดังนี้คือ  ม่วง  คราม  น้ำเงิน  เขียว  เหลือง  ส้ม  และแดง  ที่สามารถมองเห็นได้นอกจากแสงทั้ง  7  สีแล้ว  ยังมีรังสีอื่น ๆ ที่ตาไม่สามารถมองเห็นได้อีกหลายชนิด  ทั้งที่มีความยาวคลื่นสั้นและที่มีความยาวคลื่นยาว
                ในปี  พ.ศ.  2343  วิลเลียม  เฮอร์สเชล  (William  Herschel)  นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษได้ค้นพบแสงชนิดใหม่ที่สายตามนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้  โดยเฮอร์สเชลให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านปริซึม  แล้ววัดอุณหภูมิของสีทั้ง  7  สี   ที่เรียกว่า  สเปกตรัม  เขาพบว่า  สีแดง  เป็นสีที่ร้อนที่สุด  แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือช่วงแสงที่อยู่ถัดจากแสงสีแดงออกไปมีอุณหภูมิสูงกว่าแสงสีแดง  ซึ่งช่วงแสงดังกล่าวเป็นรังสีความร้อนที่มองไม่เห็นที่เรียกว่า  รังสีใต้แดง  (Infrared)
                เมื่อ  พ.ศ.  2428  แมกซ์  แพลงค์  (Max Planck)  ได้ค้นพบทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิและการแผ่รังสีความร้อน  ซี่งเขาได้พิสูจน์ว่าวัตถุทุกชนิดเมื่อได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์จะทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นหมายความว่าวัตถุทุกชนิดนั้นสามารถรับพลังงานความร้อนในรูปของแสงหรือรังสีจากดวงอาทิตย์  และสามารถถ่ายเทพลังงานความร้อนออกมาได้

การดูดกลืนความร้อนของวัตถุ
                การดูดกลืนความร้อนของวัตถุ หมายถึง การที่วัตถุบนโลกได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์แล้วเก็บสะสมความร้อนไว้ภายใน ส่งผลให้วัตถุได้รับพลังงานความร้อนเพิ่มขึ้น  เช่น ถ้านักเรียนยืนอยู่กลางแสงแดดเป็นเวลานาน  จะรู้สึกร้อนและพบว่าร่างกายของนักเรียนแต่ละส่วนจะมีอุณหภูมิไม่เท่ากัน  ซึ่งบริเวณที่ร้อนที่สุด  คือ  ศีรษะทั้งนี้เนื่องจากดวงอาทิตย์จะแผ่พลังงานความร้อนออกมายังโลกในรูปของพลังงานแสง  เมื่อมากระทบกับวัตถุบนโลก  วัตถุเหล่านั้นจะดูดกลืนความร้อนเก็บสะสมไว้ภายใน  ส่งผลให้วัตถุได้รับพลังงานความร้อนเพิ่มขึ้น  ดังนั้น  เมื่อเวลาอยู่กลางแสงแดดจึงทำให้วัตถุร้อนขึ้น 
             การคายความร้อนของวัตถุ หมายถึง การที่วัตถุดูดกลืนพลังงานความร้อนไว้แล้ว ก็จะแผ่รังสีความร้อนหรือปลดปล่อยความร้อนออกมา  วัตถุที่ดูดกลืนความร้อนไว้มากจะแผ่รังสีความร้อนที่มีความยาวคลื่นของแสงสีแดง  ดังนั้นวัตถุที่ร้อนจัดจึงเห็นเป็นสีแดง  และเมื่อทำให้ร้อนขึ้นไปอีกก็จะแผ่รังสีอื่นที่มีความยาวคลื่นแตกต่างกันออกมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดเมื่อร้อนจัดก็จะปล่อยแสงสว่างที่ตาเรามองเห็นได้ออกมา
ปัจจัยที่มีผลต่อการดูดกลืนและการคายความร้อน
                วัตถุต่าง ๆ  มีสมบัติการดูดกลืนและคายความร้อนแตกต่างกัน  หากเรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมบัติดังกล่าวของวัตถุ  ก็จะทำให้สามารถเลือกใช้วัตถุได้อย่างเหมาะสม  ซึ่งการดูดกลืนจะคายความร้อนของวัตถุขึ้นอยู่กับปัจจัย  ดังนี้
                1)  สี  วัตถุที่มีสีเข้มจะดูดกลืนและคายความร้อนได้ดีกว่าวัตถุที่มีสีอ่อน  เช่น  รถยนต์สีดำกับรถยนต์สีขาว  เมื่อจอดปิดกระจกอยู่กลางแดด  ภายในรถยนต์สีดำจะร้อนเร็วกว่ารถยนต์สีขาว  และคายความร้อนได้เร็วกว่าด้วย
                2)  เนื้อวัตถุ  วัตถุที่มีเนื้อหยาบและผิวด้านจะดูดกลืนและคายความร้อนได้ดีกว่าวัตถุที่มีเนื้อละเอียด  ผิวเป็นมัน
                3.  อุณหภูมิ  วัตถุที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมมากจะดูดกลืนความร้อนได้เร็ว  เช่น  แก้วกาแฟสองใบตั้งไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิ  25     แก้วกาแฟที่มีอุณหภูมิ  10   จะดูดกลืนความร้อนได้เร็วกว่าแก้วกาแฟที่มีอุณหภูมิ  20
                วัตถุที่มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อมมาก  จะแผ่รังสีหรือคายความร้อนได้เร็ว  เช่น  ตั้งแก้วกาแฟทั้งสองใบไว้ในห้องอุณหภูมิ  25   แก้วกาแฟใบที่มีอุณหภูมิ   80  จะคายความร้อนได้เร็วกว่าแก้วกาแฟที่มีอุณหภูมิ  40
                4)  พื้นที่ผิว  วัตถุที่มีพื้นที่ผิวมากจะดูดกลืนและคายความร้อนได้เร็วกว่าวัตถุที่มีพื้นผิวน้อย
การนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
                มนุษย์นำความรู้เรื่องการดูดกลืนและคายความร้อนมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน  เช่น
 - กล้องเทอร์มอล  อิมเมจ  (thermal  image)  การประดิษฐ์กล้องเทอร์มอล  อิมเมจ 
ส่องดูวัตถุ  หรือสิ่งต่าง ๆ ในที่มืดสนิท  ทำให้เราสามารถมองเห็นวัตถุในที่มืดได้  กล้องชนิดนี้จะอาศัยหลักการที่ว่าวัตถุทุกชนิดจะแผ่รังสีความร้อนออกมาตลอดเวลานั่นเอง
               - การเอกซเรย์  ในทางการแพทย์สามารถใช้รังสีเอกซ์ถ่ายภาพส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
คนลงบนแผ่นฟิลม์  เพื่อวินิจฉัยโรค  เนื่องจากอวัยวะ  แต่ละส่วนจะแผ่รังสีความร้อนออกมาไม่เท่ากัน  ภาพที่ถ่ายได้จึงมีสีต่างกัน  ถ้าอวัยวะส่วนใดเกิดโรคขึ้นจะทำให้ภาพที่ออกมามีสีผิดไปจากปกติ
                - ในทางอุตสาหกรรม    อุตสาหกรรมที่ต้องใช้ไอน้ำที่ส่งมาตามท่อจะต้องหุ้มท่อด้วย
ฉนวนที่หนา  เพื่อป้องกันความร้อนรั่วไหลออกจากผนังท่อ  ถ้าเกิดมีรอยรั่วแม้แต่เพียงเล็กน้อย     จะทำให้ความร้อนสูญหายไป  ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบด้วยตาได้เลย  แต่ถ้าใช้ถ่ายด้วยฟิล์มไวแสงอินฟราเรด  จะเห็นรอยรั่วได้อย่างชัดเจน
                 - การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ  โดยการถ่ายภาพของผิวโลก  และใต้ผิวโลกจาก
ดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกด้วยฟิล์มไวแสงอินฟราเรด  ซึ่งอาศัยหลักการที่ว่าวัตถุทุกชนิดสะท้อนคลื่นความร้อนออกมา  โดยน้ำจะไม่สะท้อนคลื่นความร้อน  แต่จะสะท้อนแสงสีเขียว-น้ำเงิน  พืชสีเขียวจะสะท้อนคลื่นความร้อนได้ดี  ซึ่งจะได้ภาพสีส้ม-แดง  จากภาพที่ถ่ายได้จึงสามารถสำรวจพื้นที่ได้ว่ามีทรัพยากรธรรมชาติใดอยู่บ้าง
                  - การก่อสร้างอาคารโดยใช้แก้วเป็นผนัง เนื่องจากความมันวาว ของผนังแก้วจะสะท้อนรังสีความร้อน ด้วยเหตุที่แก้วเป็นตัวนำความร้อนที่ไม่ดี ความร้อนจึงไม่สามารถส่งผ่านจากภายนอกอาคารเข้าไปในอาคารได้ง่าย ๆ
                 - การก่อสร้าง นิยมใช้คอนกรีตเป็นวัสดุในการก่อสร้าง เพราะคอนกรีตเป็นตัวนำความร้อนที่ไม่ดี ความร้อนจากดวงอาทิตย์และสภาพแวดล้อมโดยรอบอาคารไม่สามารถเคลื่อนที่ผ่านคอนกรีตได้ง่าย จึงทำให้อุณหภูมิภายในอาคารไม่ร้อน
                 - การออกแบบชุดนักบินอวกาศ จะต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในอวกาศ
โดยชุดภายนอกจะมีสีขาวเพื่อให้สะท้อนรังสีที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์ซึ่งจะช่วยป้องกันนักบินอวกาศจากการดูดกลืนรังสี ซึ่งอาจทำให้ร่างกายของเขาได้รับความร้อนในปริมาณที่มาก นอกจากนี้หมวกกันภัยยังประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุที่เป็นฉนวนพิเศษใช้ป้องกันการส่งผ่านความร้อนโดยการนำความร้อน
                 - การประดิษฐ์กาต้มน้ำร้อน ซึ่งตัวกาต้มน้ำร้อนจะประดิษฐ์ให้มีสีเงินวาวและผิวมันเรียบ เพราะคุณลักษณะเช่นนี้ จะทำให้กาต้มน้ำร้อนเป็นตัวปลดปล่อยรังสีความร้อนที่ไม่ดีจึงทำให้น้ำที่ต้มแล้วเก็บไว้นาน ๆ น้ำก็ยังร้อนอยู่
                 - การสร้างรถบรรทุกน้ำมันและถังน้ำมัน ตัวถังน้ำมันของรถบรรทุกน้ำมัน นิยมเคลือบผิวหน้าด้วยสีขาวเพื่อช่วยให้สะท้อนรังสีที่มาจากดวงอาทิตย์ ทำให้น้ำมันที่บรรจุอยู่ในถังเย็นตัว
หรืออุณหภูมิต่ำ ป้องกันการลุกไหม้ของน้ำมันที่เก็บรักษาไว้
                 - การเลือกสวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศหรือฤดูกาล โดยถ้าอากาศร้อนหรือเป็นฤดูร้อน ก็ควรสวมเสื้อผ้าสีอ่อน เนื่องจากวัตถุสีอ่อนจะดูดกลืนความร้อนได้น้อย ทำให้รู้สึกเย็นสบาย และถ้าอากาศเย็น หรือ เป็นฤดูหนาวก็ควรสวมเสื้อผ้าสีเข้ม เนื่องจากวัตถุสีเข้มจะดูดกลืนความร้อนได้มาก ทำให้ร่างกายรู้สึกอบอุ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น